ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เรื่องเล่าสู่ตำนาน ตอน...ตำหนิลับ..ในพระรอดพิมพ์ใหญ่ (องค์ต้นแบบ)

 "พระรอด....พระเครื่อง..ผู้เป็นรองแค่สายสิญจน์" 



   "พระรอด" สุดยอดพระเครื่องซึ่งมีอายุกาลพรรษาสูงสุดแห่งชุดเบญจภาคี เชื่อกันว่าสร้างโดยองค์ฤาษีนารอด ในยุคสมัยอาณาจักรหริภุญชัยแห่งเจ้าแม่จามเทวี ปฐมกษัตรี นับถึงเวลานี้ก็ได้ประมาณกว่า ๑,๓๐๐ ปีล่วงมาแล้ว 


"ฤาษี นารอด (หรือนารถะ)" 




    "พระรอด..เป็นรองแค่สายสิญจน์"  

     ภาคเหนือ..มีน้อยคนที่ไม่รู้จักพระรอด แม้แต่เด็กๆก็ยังรู้จัก พูดง่ายๆ เกิดมาก็รู้จักพระรอดตั้งแต่แบเบาะแล้ว ด้วยฤิทธิปาฏิหาริย์ที่เล่าลือกันของพระรอดประกอบด้วยนามคำว่า "รอด"  พ่อแม่หรือผู้ปกครองจึงนิยมหามาให้ลูกหลานให้ใช้คล้องคอ ญาติพี่น้องที่มีใครให้กำเนิดลูกใหม่ๆ ก็มักจะได้ของฝากของเยี่ยม ถ้าเป็นพระเครื่องก็เห็นจะไม่พ้น"พระรอด" ภาพลักษณ์ของ "พระรอด" ไม่ว่าจะเป็นพระรอดใหม่หรือพระรอดเก่า จึงยังฝังจิตฝังใจกลายเป็นวัฒนธรรมการคล้องพระเครื่องของทางภาคเหนือของไทยและเป็น "ศรัทธาวัฒนธรรม" ที่อยู่คู่กับคนภาคเหนืออย่างแท้จริงจนถึงทุกวันนี้
   "พระรอด...เป็นรองก็แค่สายสิญจน์เท่านั้น"  ในที่นี้หมายถึง "จำนวน" เมื่อเทียบกับการหาคล้องพระรอด ไม่ว่าพระใหม่หรือเก่า เพราะการหาด้ายสายสิญจน์ มาเป่ามาเสกแล้วนำมาผูกคล้องคอ ผูกข้อมือ หาได้ง่ายกว่าและในทุกวาระโอกาส แม้แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เรานับถือ หรือท่านผู้มีอายุซึ่งทางภาคเหนือเรียก "พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย" เช่น..ลุงติ๊บ...ก็เรียก "พ่ออุ๊ยติ๊บ" ป้าศรี ก็เรียก "แม่อุ๊ยศรี" เราก็สามารถหาสายสิญจน์มาให้ท่านเป่าเสกพรวดๆ บางท่านเป่าจนน้ำหมากกระจาย เพราะคนสมัยก่อนนิยมเคี้ยวหมาก แล้วนำมาผูกคล้องข้อมือลูกหลาน ท่าน....ไม่ได้ใช้พลังจิตแต่ท่านใช้พลังใจ...ลูกหลานก็ได้กำลังใจ หายป่วย หายไข้ ไม่กลัวผีสางนางไม้แล้ว สายสิญจน์จึงมีจำนวนมากกว่าพระรอด ....แสดงว่าทั้ง พระรอด และสายสิญจน์ เป็นที่นิยมหามาเป็นเครื่องรางในลำดับต้นๆ ในถิ่นแถวทางภาคเหนือของไทยมานานมากหรือเริ่มตั้งแต่จำความได้แล้ว


"ไขตำหนิลับ ในองค์พระรอดพิมพ์ใหญ่"

    ถึงเวลานี้เห็นทีจะไม่กล่าวถึงความเป็น "พระรอด" เสียไม่ได้ กระผมจึงได้ใช้เวลาพยายามไขปริศนาในองค์พระรอดและหาข้อยุติในความน่าจะเป็นพระแท้หรือความเป็นพระแท้ถึงยุคสมัย ในแบบฉบับของกระผมเอง โดยได้พยายามแตกความรู้จากในทุกมิติความรู้และจากตำราของท่านผู้รู้ ผู้ชำนาญจากแหล่งความรู้ต่างๆ 
    พระรอด..พิมพ์ใหญ่ องค์ในภาพ กระผมเพียรพยายามส่องและศึกษาเป็นเวลานานหลายเดือน (....เชื่อว่า..ไม่มีใครที่ส่องพระแล้วรู้แท้ปลอมในครั้งเดียว) สุดท้ายก็ได้แตกแขนงการศึกษาพระรอดองค์นี้ ออกมาในแบบฉบับของกระผมเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพอใจ แต่ก็ยังต้องศึกษากันต่อไปอีกและไม่ได้เป็นสิ่งที่ผมจะนำมาชี้ขาดความเป็นพระรอดพิมพ์ใหญ่องค์แท้จริง แต่น่าจะมีประโยชน์ในการนำไปต่อยอดกระบวนการเรียนรู้และทิ้งไว้ให้สืบสานเรื่องราวต่อไป สำหรับคนรุ่นอนาคต ในยุคดิจิตอลด้วย...
   พระรอด...เป็นพระเครื่องกลุ่มเนื้อดินเผา อันยากที่จะชี้ตำหนิได้ (ไม่เหมือนพระเครื่องรุ่นใหม่ที่ปั๊มให้คมชัดด้วยโลหะ) ฉะนั้น...พระเครื่องกลุ่มเนื้อดินเผาต้องใช้ความชำนาญบวกประสบการณ์ในการดูเนื้อพระเป็นหลัก รองลงมาคือ..การศึกษาตำหนิโดยรวม เพื่อชี้แนวทางความเป็นพระแท้ของพระเครื่ององค์นั้นเท่านั้น กลุ่มพระเนื้อดินเผายากที่จะเหมือนกันได้ทุกองค์


แบบฉบับการศึกษา พระเครื่องกลุ่มเนื้อดินเผา ในแบบการศึกษาของกระผมเอง

๑.ดูเนื้อ - ความเก่าและความเป็นธรรมชาติ (ชี้ขาดความเป็นพระแท้ได้)
๒.ดูตำหนิพิมพ์โดยรวม เพื่อดูพุทธศิลป์ของความน่าจะเป็นพระแท้ (ใช้ประกอบความน่าจะเป็นพระแท้เท่านั้น)


ศาสตร์พระรอด...เปิดเผยเป็นครั้งแรก



เผยความลับ พระรอด....ในรอบ ๑,๓๐๐ ปี"พระรอดลำพูนดำ องค์ปฐมบท"


"พุทธศาสตร์..ขับ..พุทธศิลป์"

    พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้ มีเนื้อในดำหรือที่นิยมเรียกตามความหายากว่า "พระลำพูนดำ" แต่คราบผิวเป็นสี(วรรณะ)เหลืองขุ่นนวลหรือสีเหลืองไพล มีรายละเอียดพิมพ์ทรง มิติที่คมชัด รายละเอียดสมบูรณ์ เท่าที่ผมเคยพบเห็นมา จึงน่าจะสันนิษฐานได้ว่าน่าจะพิมพ์ในจำนวนแรกๆของการพิมพ์พระ ซึ่งแม่พิมพ์ยังไม่ถูกอุดหรือติดสะสมจากมวลสารที่เกิดจากการพิมพ์พระจำนวนซ้ำๆหลายครั้ง หรือเป็นพระที่พิมพ์จากแม่พิมพ์แรกๆ ก่อนที่จะมีการถอดแม่พิมพ์ที่สอง ที่สาม เพื่อการพิมพ์เพิ่มจำนวนและแต่งแก้ไขรายละเอียดเพิ่ม พระรอดองค์นี้ ที่น่าจะเกิดจากแม่พิมพ์แรก จึงมีความลึก คม ได้มิติความสูงและสัดส่วนของกลุ่มโพธิ์ที่ชัดเจน รายละเอียดส่วนพระพักตร์ที่ลึกคมชัด โดยเฉพาะดวงพระเนตรที่สวยคม แฝงด้วยพลังอำนาจ ดุจมีชีวิต และส่วนอื่นๆสมบูรณ์ จึงขอเรียกนามว่า "พระรอดองค์แรกเริ่มหรือพระรอด องค์ปฐม"

                      "อัตลักษณ์พื้นฐานของพระรอดลำพูนดำ องค์ในภาพ"


ตามภาพประกอบด้านบน

1.โพธิ์รูปขวาน - เป็นโพธิ์ที่มีลักษณะคล้ายรูปขวาน
    ไทย ด้ามสั้น แต่ก็ยังมีส่วนแอ่งเว้าแบบเป็นธรรมชาติ
2.โพธิ์เหลี่ยมแหลม - ลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยม
    ข้าวหลามตัด แต่มีสันเหลี่ยมคมที่ด้านบนยาวเป็น
    แนว และมีมุมปลายที่แหลม ทั้งมุมบนและมุมล่าง
3.โพธิ์ยอดสูง - เป็นโพธิ์ที่มียอดสูงที่สุด มีเหลี่ยมมีมุม 
    มีมิติที่ชัดเจน ถ้าเป็นองค์ที่พิมพ์ครั้งหลังๆ อาจจะดู        เหมือนก้อนเนื้อเกิน เนื่องจากการทับถมหรือ
    สะสมกันที่แม่พิมพ์ของมวลเนื้อสสาร
4.โพธิ์ก้านมุม  - เป็นโพธิ์ที่มีลักษณะเหมือนใบโพธิ์มาก
    ที่สุด และมีก้านยาวลงมา ตัดกับเส้นประภามณฑล  
    จึงมองดูมองดูเหมือนลักษณะก้านโพธิ์หักมุมเฉียง
    ขึ้นไป องค์นี้โพธิ์เขยื้อนนิดหน่อย จนดูเหมือนโพธิ์
    ซ้อน
5.โพธิ์จิ๋วหางหนาม - ลักษณะเป็นรูปนูนคล้ายดอกบัว
    ขนาดจิ๋ว มีหางหนามยาว  เรียวลดขนาดเล็กลงไปที่
    ปลายหาง วิ่งเป็นเส้นสองเส้น แตกออกไปคล้ายหาง
    แมงดาทะเล (พระเลียนแบบไม่สามารถทำปลายหาง
    ให้เรียวเล็กลงไปได้ ขนาดหางจะดูเท่ากันและดู
    ทื่อๆ) แต่ลักษณะรูปร่างของโพธิ์นี้ ไม่ว่าจะมีรูปร่าง
    ลักษณะใด แต่ที่สำคัญ ต้องมีหางวิ่งคู่และเรียวเล็ก
    ลงไป
6.รอยครูดแม่พิมพ์ - ตรงเหลี่ยมมุมหน้าแข้งขวา 
    (พระชงฆ์ขวา) ด้านล่าง มักปรากฏรอยครูดของแม่
    พิมพ์


"พุทธศิลป์ส่วนพระพัตร์"

  พระพักตร์พระรอดจะก้มต่ำเล็กน้อย แบบสงบนิ่ง ดูสุขุม อันเป็นบุคลิกของผู้บำเพ็ญตบะ แตกต่างจากพระคง ซึ่งพระคงจะเงยหน้าแบบเชิดคาง อันเป็นบุคลิกของผู้พร้อมที่จะเผชิญ...

    
    พระเมาลี ยกแยกออกจากส่วนพระเศียร มีร่องเห็นได้ชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบร่องเหล่านี้จะถูกอุดทับที่แม่พิมพ์จากมวลสสาร พระ..องค์ที่พิมพ์ครั้งหลังๆ จึงดูเสมือนว่าพระเมาลีกับส่วนพระเศียรติดกัน มองไม่เห็นแนวร่อง
    พระอุณาโลมก็เช่นกัน แบ่งครึ่งไรพระศกอย่างชัดเจน พร้อมร่องไรพระศกที่ตรงกลางส่วนที่ติดกับพระอุณาโลมมีลักษณะเป็นแอ่งแผ่กว้างลึก ซึ่งพระที่พิมพ์ครั้งหลังๆ ร่องไรพระศกจะดูเป็นเส้นแคบและดูตื้น
    ดวงพระเนตรเป็นส่วนสัน ชัดเจน มองดูเหมือนมีแววพระเนตร (แววตา) ที่ประดุจมีชีวิต ซึ่งเป็นธรรมชาติของอายุกาล ดูไม่กระด้างหรือแข็งทื่อ แฝงไว้ด้วยพลังอำนาจ


"เผยอัตลักษณ์ พระรอดพิมพ์ใหญ่ (องค์ในภาพ)"

อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๑) รอยครูดส่วนแก้มและใบหูซ้าย



    ปกติทั่วไป จะมีการชี้บอกตำหนิรอยครูดที่แก้มซ้ายเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงของพระที่พิมพ์ดินเผา ด้วยแม่พิมพ์โบราณ ส่วนใหญ่จะปรากฎรอยครูดที่ส่วนขอบข้างสันตั้งของพิมพ์ แต่อาจจะเจื่อนหายไปตามกาลเวลาและจากการซ่อมแซมประสานรอยผิวตามธรรมชาติ
    ในพระรอดองค์นี้ ปรากฏรอยครูดของแม่พิมพ์ในส่วนแก้มซ้ายและใบหูชัดเจน เป็นครั้งแรกที่มีการชี้รอยครูดข้างใบหูเช่นนี้


(ตัวอย่าง) รอยครูดแม่พิมพ์ในส่วนต่างๆของขอบข้างสันตั้ง


อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๒) แนวเส้นแม่พิมพ์แตก (เส้นวิ่งหนึ่ง-สอง-สาม)

     แนวเส้นแม่พิมพ์แตก นับว่าเป็นจุดคลาสสิคของการดูพระรอด อัตลักษณ์เฉพาะวัดมหาวัน จึงขอนำมาเปิดเผยเป็นครั้งแรกที่เวบบล็อกแห่งนี้เท่านั้น 
     เส้นแตกที่วิ่งอย่างน่าอัศจรรย์ จาก "เส้นเดียว" ที่เริ่มวิ่งตั้งแต่ข้างใบหูซ้าย (พระกรรณซ้าย) ไล่ลงมาจรดขอบบ่าแล้ววิ่งเรียบลงมาตรงข้างขอบแขน ปีนขึ้นบนข้อศอกแล้วโค้งหักลงมา มุดหายไปตรงส่วนพระบาท ปรากฏอีกทีตรงซอกแอ่งแล้วปีนจางๆขึ้นบนพระชานุ (เข่า) แล้วปีนลงมาแตกออกเป็น "สองเส้น" จากนั้นมุดหายไป โผล่อีกที ใต้สันฐานที่หนึ่ง วิ่งโค้งลงไป กลายเป็น "สามเส้น" จรดฐานที่สอง 
    ลักษณะการวิ่งของเส้นแตก จึงมีความคลาสสิคเป็นอย่างมาก ไล่จาก "เส้นเดียวแยกเป็นสองเส้นและแยกจบที่สามเส้น" ผมจึงเรียกว่า "เส้นวิ่ง หนึ่ง - สอง -สาม"


ลักษณะการวิ่งของเส้น (หนึ่ง - สอง -สาม) 




    ซึ่งเส้นแตกนี้ ที่ปรากฏในพระรอดองค์อื่นทั่วไป จะไม่ปรากฏเส้นวิ่งตั้งแต่บ่าลงมา แต่จะปรากฏเหลือเฉพาะส่วนข้อศอกหรือปีนขึ้นบนแขนเหนือข้อศอกแล้วก็หายไป "พระรอด..." องค์นี้จึงน่าจะเป็นพระที่พิมพ์จากแม่พิมพ์แรกๆ ก่อนที่จะมีการถอดแม่พิมพ์ที่สอง ที่สาม และแต่งแก้ไขรายละเอียดเพิ่ม จึงทำให้เส้นวิ่งตั้งแต่ข้างใบหูซ้าย (พระกรรณซ้าย)..หายไปจากการแต่งพิมพ์ 


อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๓) แนวเส้นแม่พิมพ์แตก (เส้นวิ่งกิ่งโพธิ์)

    แนวเส้นวิ่งหรือเส้นแตกสุดคลาสสิคอีกจุดหนึ่งของพระรอดพิมพ์ใหญ่ (องค์นี้) คือแนวเส้นแตกหรือเส้นเกิน ดูคล้ายกิ่งโพธิ์ที่หย่อนกิ่งลงมารับหรือบรรจบกับก้านใบโพธิ์ได้อย่างพอดิบพอดี
    ลักษณะความเป็นธรรมชาติของเส้นนี้ จะเริ่มที่ส่วนเส้นหนานูน ข้างส่วนยอดพระกรรณซ้าย แล้วยื่นหย่อนลงมา หนาบ้าง บางบ้าง โค้งบ้าง จางหายบ้างและตรงหรือโค้งบ้าง ดูเป็นธรรมชาติ ไม่วิ่งลงไปทื่อๆ

อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๔) รอยขีดเส้นฐานและช่องไฟเส้นแตกสามเส้น

    ด้วยความที่น่าจะเป็นพระ..ที่พิมพ์ในลำดับต้นๆ ร่องลายเส้นสายที่เกิดจากการแกะแม่พิมพ์จึงยังคงอยู่และชัดเจน
   ช่องไฟ - ลักษณะของเส้นแตกมหัศจรรย์ที่จบลงด้วยการแยกออกเป็นสามเส้น ปรากฏช่องไฟมีระยะห่างที่ลงตัว และไม่ปรากฏเส้นตัดขวางของเส้นแซมฐานวิ่งผ่านในทุกช่องไฟ
รอยขีดเส้นฐาน - ร่องลายที่เกิดจากการแกะช่องแม่พิมพ์ระหว่างเส้นฐาน มีลักษณะเป็นเส้นขีดลงมา จนดูเหมือนเส้นซี่ลูกกรง ซึ่งพระ..ที่พิมพ์ตามครั้งหลังๆ เส้นซี่ลูกกรงนี้อาจจะเลือนหายไป เนื่องจากการสะสมตัวของมวลเนื้อสสารที่เบ้าแม่พิมพ์

(ภาพรวม)




อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๕) เส้นผ้าทิพย์และเส้นแซมฐาน








    ความเป็นพระรอดวัดมหาวัน (พิมพ์ใหญ่) อัตลักษณ์แห่งความคลาสสิคอีกจุด ที่จะขาดเสียมิได้ คือเส้นผ้าทิพย์และเส้นแซมฐาน

    เส้นผ้าทิพย์ - ผ้าทิพย์คือผ้าเอกลักษณ์ ที่ใช้รองประทับนั่งแล้วโผล่ยื่นออกมา ซึ่งมีเฉพาะรูปเคารพองค์  พระพุทธ..เท่านั้น       
    ลักษณะเป็นเส้นวิ่งบางๆ ดูเป็นธรรมชาติ และไม่เป็นเส้นเดียวกัน มุดเลือนหายไปใต้พระชานุซ้าย (เข่าซ้าย) แล้วค่อยๆโผล่หลังเส้นแตกสองเส้นที่ยื่นลงมา..
    ในองค์พระ....ที่พิมพ์ครั้งหลังๆ อาจจะเหลือเส้นผ้าทิพย์เฉพาะตรงช่วงกลางเท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ยกกล่าวมาแล้วข้างต้น


เส้นแซมฐาน - คือเส้นวิ่งระหว่างฐานชั้นบนสุดกับฐานชั้นรองลงมา มีลักษณะของเส้นที่วิ่งไม่ต่อเนื่อง ดูเป็นธรรมชาติ บิดพริ้วสวยงามเนื่องจากปฎิกิริยาจากไฟความร้อนที่เผาและวิ่งตัดกับเส้นแตกสามเส้น โดยเว้นช่องไฟภายใน นับว่ามีความคลาสสิค มหัศจรรย์มาก..

    ลักษณะของเส้นวิ่งแซมใต้ฐานนี้ มักจะปรากฎความหนาบางไม่เท่ากัน หากสังเกตให้ดี ความหนาของเส้นเกิดจากการม้วนพับลงมาของเส้น เนื่องจากปฏิกิริยาของความร้อนที่เกิดจากการเผานั่นเอง จึงทำให้เส้นม้วนห่อตัวลงมา ดูเป็นสันหนา




อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๖) มิติพระรอด (องค์ในภาพ)


(มิติองค์พระ)


    ในความเป็นจริงแล้ว ผมค้นพบว่าพระรอดมีปฏิมากรรมแบบลอยตัว โดยช่าง..ผู้แกะแม่พิมพ์ พยายามยกแยกส่วนลำพระองค์ ให้ลอยออกมาจากพื้นผนังโพธิ์ด้านหลัง เฉกเช่นเดียวกับองค์พระประธานปูนปั้นในโบสถ์ทั่วๆไป ที่จะประดิษฐานตั้งเด่นออกมาจากผนังด้านหลังองค์พระ...


       แนวลาดเอียงบริเวณไหล่องค์พระรอด.. แสดงมิติความสูงต่ำและเป็นปฏิมากรรมแบบนูนลอยตัวชัดเจน


(มิติองค์โพธิ์)


    กลุ่มโพธิ์ที่มีมิติ ลอยตัวเด่น  จึงทำให้พื้นที่รอบๆองค์พระเทลาดเอียงลง เว้าลงเป็นแอ่งนิดๆ (สังเกต- โพธิ์ยอดสูง โพธิ์ที่สูงที่สุด)


    พระรอด..ปฏิมากรรมพระเครื่องที่เล็กที่สุดในชุดพระเบญจภาคี แต่กลับมีรายละเอียดของฝีมือเชิงช่างที่สวยงาม ละเอียดอ่อน และแฝงด้วยความน่าเกรงขามเป็นที่สุด

อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๗) ทองกร (กำไลข้อมือ)

    
    ปฏิมากรรมพุทธศิลป์แบบทวารวดีทรงเครื่อง อันมีกำไลข้อพระกรหรือทองกรสวมประดับ อันเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธรูปทรงเครื่อง ซึ่งมีมาและเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศิลป์แบบทวารวดี....พันกว่าปีมาแล้ว

    
พระรอด..องค์ในภาพ นับว่ามีรายละเอียดครบทุกมิติ เป็นครั้งแรกที่เห็นทองกรหรือกำไลข้อมือ ซึ่งกำไลข้อมือซ้ายปรากฏเป็นกำไลคู่ ส่วนกำไลข้อมือขวา มองดูเหมือนกำไลวงใหญ่วงเดียว


อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๘) อายุกาล

   พระรอด..วัดมหาวันวนาราม แห่งอาณาจักรหริภุญชัย (ลำพูน) กับกาลเวลาซึ่งลุล่วงมากว่าพันสามร้อยปีแล้ว ร่องรอยช่องว่างและเนื้อมวลสารย่อมมีเปลี่ยนแปลง ดังเช่น...
  • สีผิวมีการเปลี่ยนแปลง
  • พรายดินเสื่อมสลาย 
  • ชั้นผิวที่หลากหลาย
  • มวลเนื้อที่ละเอียด
  • การซ่อมแซมผิวหรือการเกิดของหินปูน(Calcite)
  • ความกลมกลึงของเหลี่ยมสันต่างๆ
  การสลายและประสานงอกซ่อมแซมกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ในส่วนฐานใต้ของพระรอดองค์นี้ที่พับม้วนเข้ามา สลายกลายเป็นเนื้อเดียวกันอย่างไม่มีช่องว่างหรือเกิดเนื้อตัน....

อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๙) เนื้อดำ


    ที่สุดแห่งพระ..ลำพูน จนกลายเป็นภาพยนตร์อันโด่งดัง (ลำพูนดำ) คือพระสกุลลำพูนที่มีมวลเนื้อในดำ 
   การมีชั้นผิวในที่ดำ เกิดเนื่องจากพระองค์นั้นต้องไฟอ่อนๆหรือแทบจะไม่โดนไฟที่เผาอบเลย อาจจะเป็นองค์ที่วางอยู่ตรงกลางสุด  สีผิวภายนอกจึงเป็นสีส้มอิฐแบบจางๆอ่อนๆ เนื่องจากโดนไฟน้อย โดยมีเนื้อในสีดำ      
    ผ่านกาลเวลาหลายร้อยปีหรือมากกว่าพันปีในองค์พระรอด เนื้อมวลสารกลับกลายและเปลี่ยนแปลง ส่วนผิวที่ต้องไฟอ่อนๆจางๆ มีการเปลี่ยนแปลงสภาพผิวปนสารละลายจากหินปูนที่ออกมาจากภายใน แล้วมาสะสมที่ผิว จึงทำให้ผิวดูหนึกนุ่มและเป็นผิวที่มีความละเอียดสูง ปนมันหน่อยๆ (ยิ่งขัดยิ่งมัน แบบขัดมันปูนฉาบในการก่อสร้าง) ที่นิยมเรียกกันว่า "คราบสีผิว" กลายเป็นชั้นสีผิวที่ปนความหนึกนุ่มจากความละเอียดของหินปูนและธาตุเหล็กที่ละลายออกมาสะสม
    อนึ่ง...เมื่อพระ...กลุ่มดินเผา มวลสารภายในเกิดการละลายสลายตัวให้ธาตุเหล็กและหินปูน น้ำหนักองค์พระจึงแปรเปลี่ยนไปด้วย แบบที่เราเรียกกันว่า น้ำหนักตึงมือหรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 
    ส่วนพระ...องค์ที่ดำทั้งองค์ เกิดจากองค์พระไม่ได้ต้องไฟเลย คือวางอยู่ตรงจุดอับไฟ องค์พระจึงไม่มีผิวไฟ ถ้าเป็นเหรียญที่มีคราบไฟก็จะเรียก "ผิวไฟหรือกะไหล่ไฟ"

(ตัวอย่าง ชั้นคราบผิวและร่องการเซ็ตตัวในหินอัคนีชนิดมวลละเอียด)

   "คราบ" ก็คือวิวัฒนาการย่อยสลายของมวลสสารภายใน แล้วมาสะสมที่ชั้นผิวภายนอก เช่นเดียวกับชั้นผิวของหินหรือกลุ่มหินอัคนี 

อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๑๐) รอยยุบหดด้านหลัง


   ร่องรอยการยุบหดตัว แบบเป็นสันร่องวิ่งขึ้นเป็นเส้นยาวหลายเส้น (ไม่ใช่ลายนิ้วมือ) ตรงกลางระหว่างเส้นคือร่องยุบตัว ร่องรอยเหล่านี้มักปรากฏในพระเนื้อดิน
    พระที่มีความเก่ามากๆ อย่างพระรอดองค์นี้ เส้นสันจะเห็นชัดและมีร่องยุบตัวลึก 

(ตัวอย่าง ร่องการเซ็ตตัวในหินอัคนีชนิดมวลละเอียด)

   อนึ่ง...ร่องยุบตัวแบบนี้มักเกิดในชั้นผิวของหินเช่นเดียวกัน
  อนึ่ง...ร่องยุบตัวแบบนี้ ดูคล้ายเส้นลายพิมพ์นิ้วมือ จึงมักถูกเรียกผิดๆว่าเป็น "ลายพิมพ์นิ้วมือ" ซึ่งความจริงคือร่องรอยการเซ็ตตัวของพื้นผิววัสดุ...ตามกาลเวลา (ลองส่องดูลายพิมพ์นิ้วมือเรา)
   อนึ่ง...เส้นลายพิมพ์นิ้วมือในองค์พระก็มีปรากฏอยู่..เช่นในด้านหลังองค์พระนางพญา...พระผงสุพรรณ...เป็นต้น แต่ต้องเป็นเส้นโค้งและโค้งไล่กันไปในทิศทางเดียวกันและมักปรากฏโค้งเป็นแนวนอน ถ้าชัดหน่อยก็จะเห็นจุดกลางหรือเส้นวงก้นหอย ....
    ส่วนปลายด้านหลังของพระรอด..มักจะงองุ้มไปข้างหน้า เนื่องจากเป็นส่วนที่บางและจากการถูกความร้อน


อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๑๑) ปีกพระรอด





   ปีกพระรอดหรือเนื้อปีก คือเนื้อส่วนเกินเลยจากขอบแม่พิมพ์ออกมาด้านข้างทั้งสองข้าง พระรอด..เป็นพระที่ไม่ตัดขอบปีก เพราะเป็นพระขนาดเล็ก หากมีการตัดเนื้อปีกอาจเป็นการทำให้องค์พระชำรุดด้วยเนื้อองค์พระที่อาจติดมา

    "การม้วนบิดแบบปลาหมึกย่าง" เมื่อนำพระ..มาเผาอบ จะเกิดการม้วนบิดพับของเนื้อส่วนเกินหรือเนื้อปีกโดยจะม้วนพับบิดงอและม้วนพับสวนทางกับทิศทางของความร้อน เช่นเดียวกับการย่างปลาหมึกแห้ง....



    ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด และที่กระผมเขียนเล่ามาไม่ใช่จุดสิ้นสุดของความเป็นพระรอด แต่เป็นโชคดีของผมที่ได้ครอบครองและนำมาเล่าเผยแพร่ หวังเพียงให้อนุชนคนรุ่นต่อๆไปได้ศึกษาและสืบสานเรื่องราวให้คงอยู่ ซึ่ง "พระรอด...คือ..ศรัทธาวัฒนธรรม" ของคนล้านนาอย่างแท้จริง




โดย...นักเดินทางเข้าป่าและเล่าเรื่อง
ร.ต.อ.อภิชาติ ปัดภัย 
สงวนสิทธิ์ ๒๕๖๑
apichatimm@gmail.com




ความคิดเห็น

  1. ความรุ้ที่ท่านได้นำเสนอนั้นย่อมเป็นกุศลต่อคนรุ่นหลังสืบไปครับ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

"หนึ่งในตำนานแห่งองค์ฤษีผู้วิเศษ - One of the legend of the sacred Hermits. ".." พระซุ้มกอ - Pra Sum Kor "

   "สมเด็จบาง นางหนา ท่านว่าไว้ พระรอดนุ่มหนึกใน คล้ายสีผึ้ง ผงสุพรรณดินกรองต้องตราตรึง ซุ้มกอซึ้ง แร่มะขาม งามจับใจ"    “ ใครมีกูไว้ไม่จน ”   จากคำจารึกในตำนาน ที่เล่าสืบขานกันต่อๆมา ถึงคำบอกเล่า เกี่ยวกับการค้นพบ พระกรุอันโด่งดังแห่งกรุในพื้นที่ที่เรียกว่า "ลานทุ่งเศรษฐี" เมืองกำแพงเพชร เมืองอันเป็นเมืองแห่งมรดกโลก ในปัจจุบัน...ดังคำขวัญประจำจังหวัด “กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง ศิลาแลงใหญ่ กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ เลื่องลือมรดกโลก”     กำแพงเมือง ป้อมปราการ ทำมาจากหินศิลา แข็งแกร่งดุจเพชร  ตั้งตระหง่านยืนหยัดคู่กาลเวลา ผ่านการศึกสงครามมาหลายครา บัดนี้รากไม้ใหญ่ขอยึดเพื่อใช้อยู่อาศัย บรรยากาศมีความอึมครึมดูเข้มขลัง ให้หวนนึกถึงเหตุการณ์ครั้งในประวัติศาสตร์แบบรู้สึกได้ "อุทยานประวัติศาตร์ เมืองมรดกโลก กำแพงเพชร" แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เมืองกำแพงเพชร (ชากังราว)     พระเครื่องที่พบในกรุลานทุ่งเศรษฐี ที่ค้นพบหรือแตกกรุมาตั้งแต่ครั้นสมัย  สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต...

เล่าเรื่องก่อนเป็นตำนาน ตอน..พระกำแพงงบน้ำอ้อย กรุวัดพิกุล

พระกำแพงงบน้ำอ้อย เนื้อเขียว คราบแดง กรุวัดพิกุล กำแพงเพชร     พระพิมพ์เนื้อดินเผา เมืองกำแพงเพชร มีมากมายหลายพิมพ์ มีการค้นพบแม้กระทั่งพระสกุลลำพูน สุพรรณบุรี พระพิมพ์ศิลปะขอม เป็นต้น แตกต่างกันที่เนื้อดินและความปราณีตของแม่พิมพ์ ซึ่งจะได้สืบหาค้นคว้ามานำเสนอเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป     พระกำแพงงบน้ำอ้อย กรุวัดพิกุล เป็นอีกหนึ่งพระพิมพ์ที่โด่งดังของเมืองกำแพงเพชร หาพบองค์จริงแทบจะน้อยมาก (กระผมว่าหาพบยากยิ่งกว่าพระรอดซะอีก) องค์ในภาพนี้เป็นเนื้อเขียวเข้ม คราบแดง เนื้อแกร่งมีชั้นผิวนอกที่ดูคล้ายเปลือก ค้นพบภายในเจดีย์วัดพิกุล วัดโบราณในลำดับต้นๆของเมืองกำแพงเพชร คนโบราณท่านว่า วัดที่ตั้งมาก่อนคือวัดป่ามืด ไล่ลำดับไล่เลี่ยกันถัดมาก็จะเป็นวัดซุ้มกอ วัดพิกุล...ซึ่งอายุก็ประมาณเกือบ ๘๐๐ ปีล่วงมาแล้วทั้งหมด เรื่องเล่าสู่ตำนาน พระงบน้ำอ้อย พิมพ์ ๑๐ องค์ เนื้อเขียวคราบแดง ขนาดประมาณเหรียญห้าบาทปัจจุบัน กรุวัดพิกุล (ลานทุ่งเศรษฐี) หาพบได้ยาก อายุประมาณกว่า ๗๐๐ ปี โดยคนเดินทางเข้าป่าและเล่าเรื่อง ร.ต.อ.อภิชาติ ปัดภัย